พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

       เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๑๙ ตุลาคมของทุกปีเป็นวันเทคโนโลยีของไทยซึ่ง เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก

        ในการพัฒนาเพื่อให้ ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนา ทุกแขนง ทรงมุ่งให้เกิดการพัฒนาคนให้อยู่ได้ด้วยการพึงตนเองเป็นสำคัญ ทุก ๆ โครงการที่มีพระราชดำริและประทานให้แก่ประชาชน ล้วนมีวิธีดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซ้ำซ้อน มีความสอดคล้องกับระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ และสภาพสังคมของชุมชนนั้น ๆ ไม่ทรงปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ แต่ทรงเน้นว่าจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงใช้ได้ดีพอ เหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศ โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ประหยัดและการทุ่มแรงงาน พระองค์ทรงเป็นดุจประทีปชี้นำทางสว่างสู่ปวงประชา วิทยาการด้านเทคโนโลยีที่ทรงนำมาใช้ในการพัฒนานั้นมีหลายด้าน อาทิ

        ด้าน การเกษตร ทรงเน้นเรื่องการค้นเค้าทดลอง วิจัยพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช การศึกษาสภาพของดิน และพัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่แนะนำให้เกษตรกร นำไปปฏิบัติได้ด้วยราคาถูกและใช้ เทคโนโลยีที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ เสริมสร้าง สิ่งที่ชาวบ้านชนบทขาดแคลนและต้องการ คือความรู้ในด้านเกษตรกรรมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้

        นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงศึกษาค้นคว้าและทรงคิดค้นเทคนิควิธี หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ หลายวิธีการ เช่น โครงการฝนหลวงแนวพระราชดำริการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทฤษฏีใหม่แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด แกล้งดิน แนวพระราชดำริ การป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดย หญ้าแฝก แนวพระราชดำริ การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูกแนวพระราชดำริป่าเปียกเพื่อความชุ่มชื้นของดินและเป็นแนวป้องกันไฟป่า และแนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ฝายชะลอความชุ่มชื้น

        ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ นำไปพิจารณาและดำเนินการก่อนสร้างแหล่งน้ำ ๕ ประเภท คือ (๑) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค (๒) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร (๓) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ (๔) โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม (๕) โครงการบรรเทาอุทกภัย

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นคว้า ทดลอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำ ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยุสื่อสสาร ดาวเทียม และคอมพิวเตอร์มาใช้ในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนสามารถช่วยเหลือเกษตรกรใน ภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงอีกทั้งยังเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่อ่างและเขื่อน เก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน และการผลิกกระแสไฟฟ้า

        ด้าน การป้องกัน น้ำท่วม พระราชทานพระราชดำริให้มีการก่อสร้าง คันน้ำ หรือผนังเลียบลำน้ำนอกจากนั้นยังได้พระราชทานการก่อสร้างทางผันน้ำ ขุดลอกตกแต่งลำน้ำ นอกจากนั้นได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ โครงการแก้มลิงโดย การขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเล เมื่อปริมาณน้ำทะเลจะลดลง

        ด้านสิ่งแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ในการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีหลายวิธีการ เช่น โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย สระเติมอากาศ ชีวภาพบำบัด การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ

        ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการทรงงานต่าง ๆ โดยพระราชทานพระราชดำริ ให้กรมแผนที่ทหาร จัดทำแผนที่ชนิดต่าง ๆ ถวาย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องของพื้นที่นั้น ๆ มาประกอบพระราชดำริ ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์เสมอ เพื่อความรวดเร็วในการติดต่อประสานงาน ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาขนได้ทันท่วงที

        ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ พระองค์ได้ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นในพระราชวังสวนดุสิต ต่อมาจึงย้ายไปตั้งในบริเวณพระตำหนังจิตลดารโหฐาน พระราชประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.คือให้พสกนิกรมีโอกาสติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สถานีวิทยุยังทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมจากภัยพิบัติต่าง ๆ

        ด้าน คอมพิวเตอร์ ทรงคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยหลายแบบและทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียบเรียงเสียง ประสานและพิมพ์โน้ตเพลงสำหรับเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เป็นต้น นากจากนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๔๗๒,๙๐๐ บาท ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา

        ด้านพลังงานทดแทน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการพึ่งพาพลังงานนำเข้า จึงมีพระราชดำริให้เตรียมรับกับปัญหาด้านพลังงานมากว่า ๔๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ทรงมีพระราชดำริให้นำพืชผลการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อให้คนไทยพึ่งตัวเองได้ รวมทั้งรองรับปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำที่อาจจะเกิดขึ้น โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนมีอาทิ

           ๑. การพัฒนาแก๊สโซฮอล์ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ทรงมีพระราชดำรัสให้ศึกษาการผลิตเอทานอลจากอ้อยเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลน น้ำมันและราคาอ้อยตกต่ำ ได้มีการปรับปรุงคุณภาพและกำลังการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงความบริสุทธิ์ของเอทานอลจาก ๙๕% ให้มีความบริสุทธิ์ ๙๙.๕% และได้ทดลองผสมเอทานอลด้วยสัดส่วน ๑๐ % ในน้ำมันเบนซิน ซึ่งใช้ได้ผลและเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ บริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำกัด (หมาชน) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้บริการแก่รถยนต์ที่ใช้ในโครงการส่วน พระองค์สวนจิตรลดา

           ๒. ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่างลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก ที่ศูนย์การพัฒนาศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพร้อม ทดลองน้ำมันปาล์มกับเครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นโครงการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับ เครื่องยนต์ดีเซลนี้ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองใน โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำไปจัดแสดงในงาน “Brussels Eureka ๒๐๐๑ซึ่ง เป็นนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติประจำปี ๒๕๔๔ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อักทั้งโครงการดังกล่าวยังได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยจากกระทรวงพาณิชย์

        นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริในเรื่องพลังงานทดแทน อื่น ๆ อีก เช่น การผลิตดีโซฮอล์ซึ่งเป็นการผลิตเชื้อเพลิง จากการผสมเอทานอลกับน้ำมันดีเซล ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และลดควันดำถึง ๕๐%

        หรือพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์สวน จิตรลดาทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ซึ่งได้ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซติดไฟกว่า ๕๐% และก๊าซอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

        เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียง ตัวอย่างบางส่วนที่ทรงใช้ ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทรงใช้ในการพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่น ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

        ในการที่ทรงนำเทคโนโลยีความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้อันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและนานาประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นาย Richard G. Grimshaw หัว หน้าสาขาวิชาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด เพื่อเฉลิมพระเกียรติในความสัมฤทธิ์ผล ทางด้านวิชาการและการพัฒนา ในการส่งเสริมเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในระดับระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ ดินและน้ำทำให้พสกนิกรไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย


อ้างอิง :
- http://www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=58
- www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

169 ถ.ลงหาดลางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี 20131
Phone: (038) 103011
Email: scibuu.pr@gmail.com

สอบถามเพิ่มเติม

>> ฝ่ายการประกวด/ แข่งขัน 
    0-3810-3157 กด 1
>> ฝ่ายประชาสัมพันธ์
    0-3810-3010
>> ฝ่ายประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
    0-3810-2222 ต่อ 7549 
>> Email: sciday.buu@gmail.com

Line@

เพิ่มเพื่อน

Facebook Like